Luxemburg, Rosa (1871-1919)

นางโรซา ลักเซมบูร์ก (๒๔๑๔-๒๔๖๒)

​​     โรซา ลักเซมบูร์ก เป็นสตรีผู้นำปีกซ้ายของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือพรรคเอสพีดี (German Social Democratic Party - SPD)* และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยโปแลนด์ (Social Democratic Party of Poland)

ใน ค.ศ. ๑๘๙๓ และพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน (German Communist Party) ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ลักเซมบูร์กเป็นนักปฏิวัติสังคมนิยมชาวโปแลนด์สัญชาติเยอรมัน นักทฤษฎีลัทธิมากซ์ (Marxism)* และนักเคลื่อนไหวจัดตั้งคนสำคัญของขบวนการปฏิวัติเยอรมัน เธอคัดค้านพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันที่สนับสนุนรัฐบาลเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ลักเซมบูร์กจึงร่วมมือกับคาร์ล ลีบเนชท์ (Karl Liebknecht)* นักคิดแนวสังคมนิยมที่เป็นสมาชิกสภาไรค์ชตาก (Reichtag)* จัดตั้งองค์การปฏิวัติใต้ดินที่เรียกชื่อว่า สันนิบาตสปาร์ตาคัส (Spartacus League) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ เพื่อใช้วิกฤตการณ์สงครามก่อการปฏิวัติและจัดตั้งรัฐบาลของชนชั้นกรรมาชีพขึ้น แต่ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดของฝ่ายสังคมนิยมทำให้การก่อการปฏิวัติที่เรียกว่า การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (November Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๘ ประสบความล้มเหลว
     ลักเซมบูร์กเกิดในครอบครัวชาวยิวฐานะปานกลางที่เมืองซามอชช์ (Zamość) ในดินแดนโปแลนด์ของรัสเซียเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๗๑ ปีเกิดของเธอไม่ชัดเจนเพราะในใบประวัตินักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซูริกระบุว่า ค.ศ. ๑๘๗๑ แต่ในใบประวัติการทำงานเป็น ค.ศ. ๑๘๗๐ บิดาเป็นนักธุรกิจไม้แปรรูปและมารดาเป็นแม่บ้าน ลักเซมบูร์กเป็นลูกสาวคนสุดท้องและมีพี่ชายและพี่สาวอีก ๔ คน ใน ค.ศ. ๑๘๗๓ ครอบครัวของลักเซมบูร์กอพยพไปอยู่ที่กรุงวอร์ซอ (Warsaw) ซึ่งเธอและพี่ ๆ ได้มีโอกาสเรียนภาษารัสเซียที่โรงเรียน ในวัยเยาว์เธอล้มป่วยด้วยวัณโรคซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรงมากในเวลานั้น และต้องนอนรักษาตัวเป็นเวลาเกือบปีเต็ม ลักเซมบูร์กซึ่งปรกติเป็นคนร่างเล็ก สูงไม่ถึง ๑๕๐ เซนติเมตรจึงมีรูปร่างผ่ายผอมและสุขภาพไม่สู้ดีอยู่ตลอดเวลา ทั้งขาข้างหนึ่งพิการซึ่งทำให้ต้องเดินกะโผลก กะเผลกตลอดชีวิต แต่เธอก็เป็นคนสง่างามและมีนัยน์ตาคมใสซึ่งสะท้อนความเฉลียวฉลาดทั้งมีเสน่ห์ดึงดูดคนด้วยบุคลิกภาพและจิตใจอันเข้มแข็ง
     ในช่วงที่เรียนชั้นมัธยมปลาย เธอเริ่มสนใจเรื่องการเมืองใน ค.ศ. ๑๘๘๖ ขณะอายุ ๑๕ ปีก็สมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม "กรรมาชีพ" (Proletariat) ซึ่งเป็นกลุ่มปีกซ้ายของพรรคโปแลนด์ (Polish Party) ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๒ พรรคโปแลนด์ได้เคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างเป็นรัสเซีย (Russification) ของซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ (Alexander III ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๘๙๔)* แต่ถูกปราบปรามกวาดล้างและผู้นำพรรค ๔ คนถูกตัดสินประหาร สมาชิกพรรคที่หนีรอดจึงเคลื่อนไหวใต้ดินและจัดตั้งกลุ่มการเมืองขึ้นหลายกลุ่มซึ่งรวมทั้งกลุ่มกรรมาชีพด้วย กลุ่มกรรมาชีพยอมรับแนวทางปฏิวัติลัทธิมากซ์และพยายามโฆษณาจัดตั้งความคิดทางการเมืองในหมู่กรรมกร อย่างไรก็ตาม ตำรวจพยายามสืบหาร่องรอยเพื่อกวาดล้าง ลักเซมบูร์กในวัย ๑๙ ปี ซึ่งหวาดระแวงว่าจะถูกจับกุมจึงตัดสินใจหนีไปเมืองซูริก (Zurich) สวิตเซอร์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ โดยได้รับการช่วยเหลือจากขบวนการใต้ดินโปแลนด์ การเลือกไปซูริกเพราะในขณะนั้นเป็นที่รวมศูนย์ของเหล่านักปฏิวัติชาวรัสเซียและชาวโปแลนด์ที่ลี้ภัยทางการเมืองลักเซมบูร์กคาดหวังว่าเธอจะมีโอกาสได้เข้าศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยซูริก เพราะมหาวิทยาลัยซูริกเป็นหนึ่งในจำนวนมหาวิทยาลัยเพียง ๒-๓ แห่งในยุโรปเท่านั้นที่ยอมรับนักศึกษาหญิง เธอเลือกเรียนสาขาวิชาประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์และหัวข้อที่สนใจเป็นพิเศษคือเรื่องรูปแบบการปกครองรัฐ แต่ต่อมาเปลี่ยนไปเรียนสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองและกฎหมาย ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ลักเซมบูร์กได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตโดย เสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง "พัฒนาการทางอุตสาหกรรมของโปแลนด์" (The Industrial Development of Poland) ซึ่งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตในโปแลนด์กับตลาดรัสเซีย วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ได้รับการพิมพ์เผยแพร่ที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) ในปลาย ค.ศ. ๑๘๙๘ ด้วย
     ที่ซูริก ลักเซมบูร์กมีโอกาสรู้จักและร่วมงานทางการเมืองกับนักปฏิวัติลี้ภัยชาวรัสเซียที่มีชื่อเสียงหลายคนซึ่งล้วนเป็นสมาชิก พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russia Social Democratic Workers’ Party - RSDLP)* เช่น อะเล็กซานดรา คอลลอนไต (Alexandra Kollontai)* ปาเวล อักเซลรอด (Pavel Axelord)* อะนาโตลี ลูนาชาร์สกี (Anatoly Lunacharsky)* และเกออร์กี เปลฮานอฟ (George Plekhanov)* ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งลัทธิมากซ์รัสเซียเป็นต้น เธอยังพบรักกับเลโอ โยกิชส์ (Leo Jogiches) นักเคลื่อนไหวชาวโปลที่อายุมากกว่า ๒-๓ ปี ใน ค.ศ. ๑๘๙๓ ลักเซมบูร์กและโยกิชส์ร่วมกันก่อตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งราชอาณาจักรโปแลนด์ (Social Democratic Party of the Kingdom of Poland - SDKP) ซึ่งเน้นการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของดินแดนโปแลนด์ส่วนที่รัสเซียได้รับการค้ำประกันให้ครอบครองตามข้อตกลงแบ่งดินแดนของประเทศมหาอำนาจยุโรปในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* เธอเสนอแนวทางการเคลื่อนไหวปลดปล่อยโปแลนด์ด้วยการให้เป็นพันธมิตรกับกรรมกรรัสเซียและไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางโปแลนด์ เนื่องจากเห็นว่าพวกนายทุนโปแลนด์มีผล ประโยชน์และใกล้ชิดกับจักรวรรดิรัสเซียเพราะรัสเซียเป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญ ลักเซมบูร์กเห็นว่าการปฏิวัติเพื่อปลดแอกจากต่างชาติของกรรมกรโปแลนด์ต้องเป็นการปฏิวัติสังคมนิยมไม่ใช่การปฏิวัติประชาธิปไตยของ ชนชั้นกลาง และการปฏิวัติโปแลนด์จะประสบความสำเร็จได้เมื่อเกิดการปฏิวัติในเยอรมนี ออสเตรีย และรัสเซีย แนวทางปฏิวัติของลักเซมบูร์กได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกปีกซ้ายของพรรคสังคมประชาธิปไตยลิทัวเนีย (Lithuanian Social Democratic Party) ซึ่งต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๐ ได้รวมตัวเข้ากับพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งราชอาณาจักรโปแลนด์และเรียกชื่อใหม่ว่า พรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งราชอาณาจักรโปแลนด์และลิทัวเนีย (Social Democratic of Kingdom of Poland and Lithuania - SDKPIL) โดยมีเฟลิกซ์ ดเซียร์จินสกี (Felix Dzerzhinsky)* เป็นผู้นำพรรคลักเซมบูร์กร่วมกับโยกิชส์จัดทำหนังสือพิมพ์ Workers’ Cause ของพรรคเผยแพร่แนวความคิดทางการเมืองและเธอได้รับการยอมรับว่าเป็นนักทฤษฎีลัทธิมากซ์รุ่นใหม่
     ในต้น ค.ศ. ๑๘๙๘ ลักเซมบูร์กไปอยู่ที่ฝรั่งเศสในช่วงเวลาสั้น ๆ และในเดือนพฤษภาคม เธอเดินทางไปกรุงเบอร์ลิน เยอรมนีซึ่งในขณะนั้นเป็นศูนย์รวมของนักสังคมนิยมยุโรปและพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือพรรคเอสพีดีก็ได้ชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองแนวทางสังคมนิยมที่เข้มแข็งทั้งเป็นแกนนำของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายอื่น ๆ ในองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)* ในปีเดียวกัน ลักเซมบูร์กแต่งงานกับกุสตาฟ ลือเบค (Gustav Lübeck) นักสังคมนิยมชาวเยอรมันที่ เธอเคยร่วมทำงานด้วย แต่การแต่งงานเป็นเพียงทางนิตินัยเท่านั้นเพื่อให้เธอได้สัญชาติการเป็นพลเมืองเยอรมัน ทันทีที่จดทะเบียนสมรสเสร็จเธอเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันและทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Neue Zeit ของพรรคซึ่งเผยแพร่หลักการลัทธิมากซ์และแนวนโยบายของพรรค หนังสือพิมพ์พรรคดังกล่าวเปิดโอกาสให้เธอได้เสนอทัศนะทางการเมืองและเป็นเวทีฝึกฝนการเขียนงานทฤษฎีทางการเมือง
     ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ เอดูอาร์ด แบร์นชไตน์ (Eduard Bernstein ค.ศ. ๑๘๕๐-๑๙๓๒)* นักทฤษฎีการเมืองเชื้อสายยิวซึ่งเป็นแกนนำคนหนึ่งในกลุ่มปีกซ้ายพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันเสนอทัศนะว่าลัทธิมากซ์ล้าสมัยและการไปสู่สังคมนิยมสามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมอุตสาหกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยการปฏิรูปสังคมอย่างสันติวิธีตามวิถีทางของระบอบรัฐสภา แบร์นชไตน์สนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของกรรมกรผ่านกิจกรรมและการดำเนินงานของสหภาพแรงงานและผู้แทนของชนชั้นแรงงานในสภาไรค์ชตากทั้งสนับสนุนเอกชนให้ดำเนินการอย่างเสรี แนวความคิดของแบร์นชไตน์ซึ่งต่อมาเรียกชื่อว่า "ลัทธิแก้" (revisionism) ถูกลักเซมบูร์กและฝ่ายนิยมลัทธิมากซ์วิพากษ์โจมตีอย่างรุนแรง ลักเซมบูร์กเขียนจุลสารการเมืองเรื่อง Reform or Revolution คัดค้านทฤษฎีของแบร์นชไตน์ อย่างเฉียบคม ทั้งชี้ให้เห็นว่าการก่อการปฏิวัติยังเป็นสิ่งที่ต้องผลักดันและจำเป็นและรัฐสภาคือกลยุทธทางการเมืองที่หลอกลวงของชนชั้นกลางซึ่งไม่อาจไว้วางใจได้เธอเรียกร้องให้ขับพวกลัทธิแก้ออกจากพรรค เอากุสท์ บาเบล (August Babel)* ผู้นำคนสำคัญขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเอสพีดี สนับสนุนความคิดของเธอ เขาจึงแต่งตั้งลักเซมบูร์กให้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พรรคชื่อ Forward เพื่อให้เธอชี้นำความคิดลัทธิมากซ์แก่กรรมกร บทบาทของลักเซมบูร์กในการปกป้องลัทธิมากซ์ยังทำให้เธอเป็นที่ยอมรับของขบวนการสังคมนิยมยุโรปว่าเป็นนักทฤษฎีลัทธิมากซ์แนวหน้าคนสำคัญ
     ลักเซมบูร์กเชื่อมั่นตลอดมาว่าเยอรมนีหรือฝรั่งเศสจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติสังคมนิยมในยุโรป แต่เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ในรัสเซียในต้น ค.ศ. ๑๙๐๕ ที่นำไปสู่การเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Nineteen-Five Revolution)* ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) ทำให้เธอเริ่มเปลี่ยนความคิดโดยเห็นว่า การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมที่ ก้าวหน้าเสมอไปแต่สามารถเกิดขึ้นในประเทศที่ล้าหลังดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศรัสเซียได้ ในปลายเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ เธอเดินทางกลับไปโปแลนด์เพื่อร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุนกรรมกรชาวโปลที่ต่อต้านรัฐบาลรัสเซีย แต่เมื่อถึงกรุงวอร์ซอร์ ฝ่ายปฏิวัติกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ใกล้จะเพลี่ยงพล้ำแล้ว ลักเซมบูร์กเคลื่อนไหวต่อสู้กับกรรมกรได้ระยะหนึ่งก็ถูกจับและรัฐบาลรัสเซียสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ เธอถูกคุมขังเป็นเวลาหลายเดือนโดยไม่มีการพิจารณาคดีแต่ก็ได้รับการปล่อยตัวในที่สุดเนื่องจากเธอล้มป่วยหนักทั้งยังเป็นพลเมืองต่างชาติ (เยอรมัน) อีกด้วย ทางการรัสเซียที่ควบคุมโปแลนด์จึงไม่ดำเนินคดีกับเธอ
     หลังจากได้รับอิสรภาพ ลักเซมบูร์กเดินทางกลับเยอรมนีโดยใช้เส้นทางผ่านกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กไปยังฟินแลนด์เพื่อหาโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับสมาชิกพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* เธอได้พบกับวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๒๔)* ที่กรุงเฮลซิงกิ (Helsinki) และได้แลกเปลี่ยนทัศนะด้านทฤษฎีการเมืองกับเขา เมื่อกลับถึงกรุงเบอร์ลิน เธอได้ใช้ประสบการณ์ของการร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ที่กรุงวอร์ซอและนำความคิดเห็นที่ได้จากเหล่านักปฏิวัติคนอื่น ๆ เขียนทฤษฎีปฏิวัติของมวลชนเรื่อง The Mass Strike, the Political Party and the Trade Union ( ค.ศ. ๑๙๐๖) ลักเซมบูร์กเสนอความคิดว่าการชุมนุมประท้วงของมวลชนเป็นปัจจัยสำคัญของการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพ เพราะจะผลักดันชนชั้นกรรมาชีพให้ฮึกเหิมและผนึกกำลังกันเป็นหนึ่งเดียว ทั้งนำไปสู่การเกิดการปฏิวัติ เธอยังมีความเห็นแตกต่างจากเลนินเกี่ยวกับรูปแบบขององค์การพรรคซึ่งเลนินเห็นว่าจะต้องกะทัดรัดและมีวินัยเข้มงวด แต่เธอกลับเห็นว่าองค์การพรรคไม่จำเป็นต้องมีขนาดกะทัดรัดทั้งต้องยืดหยุ่นตามเงื่อนไขของสถานการณ์และสามารถ พัฒนาขึ้นจากการต่อสู้ทางการเมือง ความเห็นดังกล่าวทำให้ลักเซมบูร์กถูกโจมตีจากฝ่ายลัทธิมากซ์ที่ยึดติดกับคัมภีร์ว่าเป็นพวกแปลกแยก
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๗-๑๙๑๔ ลักเซมบูร์กเป็นทั้งผู้บริหารและครูสอนคนหนึ่งของศูนย์อบรมหรือโรงเรียนการเมืองพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันเธอสอนเรื่องลัทธิมากซ์และเศรษฐศาสตร์และนักเรียน คนหนึ่งของเธอคือ ฟรีดริช เอแบร์ท (Friedrich Ebert ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๙๒๕)* ซึ่งในเวลาต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ เธอเป็นผู้แทนคนหนึ่งของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันเข้าร่วมประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียครั้งที่ ๕ ที่กรุงลอนดอน ในการประชุมครั้งนี้ เธอได้พบกับเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky ค.ศ. ๑๘๗๙-๑๙๔๐)* ซึ่งเคยรู้จักกันอย่างผิวเผินมาก่อน ทั้งคู่ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หลังการประชุมครั้งนี้ ลักเซมบูร์กใช้เวลาส่วนหนึ่งนอกเหนือจากงานประจำในการบรรยาย ให้แก่กลุ่มศึกษาของกรรมกรและการทำกิจกรรมพรรคศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับปัญหาด้านเศรษฐกิจจนเขียนหนังสือด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองเล่มสำคัญเรื่อง The Accumulation of Capital ( ค.ศ. ๑๙๑๓) ได้สำเร็จเธอวิเคราะห์ระบอบจักรวรรดินิยมที่เป็นผลสืบเนื่องจากการขยายตัวของทุนนิยมในดินแดนที่ด้อยพัฒนาส่วนอื่น ๆ ของโลก หนังสือให้ข้ออรรถาธิบายเกี่ยวกับระบบทุนนิยมและเสริมความคิดของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* ในหนังสือเรื่อง ทุน (Capital)* เล่ม ๒ แม้ความคิดเห็นของเธอจะมีข้อผิดพลาดในบางแห่ง แต่ก็ได้รับการยกย่องและชื่นชมกันมาก ทั้งนับเป็นงานเขียนเล่มสำคัญที่สุดของเธอ
     ลักเซมบูร์กมีความเห็นเช่นเดียวกับชอง โชแรส (Jean Jaures ค.ศ. ๑๘๕๙-๑๙๑๔)* นักสังคมนิยมชาวฝรั่งเศสที่ว่าหากเกิดสงครามขึ้น พรรคแรงงานในประเทศยุโรปต่าง ๆ ต้องผนึกกำลังกันก่อการชุมนุมประท้วงทั่วไปเพื่อคัดค้านสงคราม ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตการณ์สงครามบอลข่าน (Balkan Wars)* ขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๒-๑๙๑๓ เธอจึงเคลื่อนไหวเรียกร้องให้กรรมกรเยอรมันต่อต้านการเกณฑ์ทหารและให้คัดค้านการเรียกระดมพลของกองทัพ รัฐบาลจึงจับกุมเธอด้วยข้อหาปลุกปั่นทางสังคมและทำทัณฑ์บนไว้เป็นเวลา ๑ ปี ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันลักเซมบูร์กก็แตกแยกทางความคิดกับคาร์ล เคาท์สคี (Karl Kautsky) นักทฤษฎีลัทธิมากซ์ที่ มีชื่อเสียงของยุโรปและเป็นผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันในขณะนั้นเคาท์สคีไม่เห็นด้วยกับเธอในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเยอรมันและเสนอความเห็นว่าการต่อสู้ทางชนชั้นไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงก็ได้และการเคลื่อนไหวต่อสู้ในรัฐสภาก็สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายของการปฏิวัติสังคมนิยมได้ ลักเซมบูร์กคัดค้านแนวทางของเคาท์สคีอย่างหนักแน่นและยืนยันว่าการต่อสู้ทางชนชั้นจำเป็นต้องใช้ความรุนแรง
     เมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Archduke Francis Ferdinand ค.ศ. ๑๘๖๓-๑๙๑๔)* รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* และพระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ ณ กรุงซาราเยโว (Sarajevo) เมืองหลวงของบอสเนียซึ่งกลาย เป็นชนวนเหตุของสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๘)* แห่งจักรวรรดิเยอรมันซึ่งเป็นพันธมิตรกับออสเตรีย-ฮังการีได้ประกาศสงครามกับรัสเซียซึ่งสนับสนุนเซอร์เบียเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ ในวันรุ่งขึ้นพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันก็ลงมติสนับสนุนงบประมาณสงครามแก่รัฐบาลทั้งทำข้อตกลงกับรัฐบาลว่าในช่วงระหว่างสงคราม พรรคจะไม่ก่อการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง ลักเซมบูร์กคัดค้านนโยบายสงครามของพรรคอย่างเด็ดเดี่ยวแต่ก็ไร้ผลในวันที่ ๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ เธอและผู้นำกลุ่มสังคมนิยมที่ ต่อต้านสงครามหลายคนซึ่งรวมทั้งคาร์ลลีบเนชท์ พอล เลวี (Paul Levi) ฟรันซ์ เมริง (Franz Mehring) เลโอ โยกิชส์ และคลารา เซทกิน (Clara Zetkin)* จึงร่วมกันจัดตั้งองค์การปฏิวัติใต้ดินที่ต่อมาเรียกชื่อว่าสันนิบาตสปาร์ตาคัสขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านสงครามและนโยบายของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
     สันนิบาตสปาร์ตาคัสได้ชื่อมาจาก "สปาร์ตาคัส" นักต่อสู้กับสัตว์ร้าย (gladiator) ชาวทราเซียน (Thracian) ในสมัยสาธารณรัฐโรมัน ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้รวมพวกทาสก่อกบฏต่อสาธารณรัฐโรมันเมื่อ ๗๓-๗๑ ปีก่อนคริสต์ศักราช สันนิบาตสปาร์ตาคัสสนับสนุนแนวทางการเคลื่อนไหวของเลนินผู้นำพรรคบอลเชวิคในการจะใช้วิกฤตการณ์สงครามก่อการปฏิวัติเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองและการจะเปลี่ยนสงครามจักรพรรดินิยมให้เป็นสงครามกลางเมือง ลักเซมบูร์กร่วมกับลีบเนชท์จัดทำหนังสือพิมพ์การเมืองของกลุ่มชื่อ Spartacus Letters เพื่อเผยแพร่แนวนโยบายปฏิวัติและการคัดค้านสงคราม เธอยังเคลื่อนไหวสนับสนุนหลักการ "แถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์" (Zimmerwald Manifesto) ของขบวนการนักสังคมนิยมยุโรปสายกลางที่จัดประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ หมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่งไม่ห่างจากเมืองเบิร์น (Bern) สวิตเซอร์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ แถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์วิพากษ์โจมตีประเทศทุนนิยมที่เป็นต้นเหตุของสงครามและโจมตีพรรคการเมืองสังคมนิยมในประเทศต่าง ๆ ที่สนับสนุนสงคราม ตลอดจนเรียกร้องให้กรรมกรเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสันติภาพ และยุติสงครามโดยไม่มีการยึดครองดินแดนและค่าปฏิกรรมสงครามสันนิบาตสปาร์ตาคัสจึงเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามอย่างสงบและเปิดเผยในวันแรงงาน ค.ศ. ๑๙๑๖ ทั้งเรียกร้องให้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่เพื่อหาทางยุติสงครามรัฐบาลได้สลายการชุมนุมด้วยกำลัง ลักเซมบูร์กลีบเนชท์และแกนนำสันนิบาตสปาร์ตาคัสหลายคนถูกจับด้วยข้อหาทรยศและบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติลักเซมบูร์กถูกตัดสินจำคุก ๒ ปี ๖ เดือน และในช่วงเวลาดังกล่าวเธอถูกนำตัวไปคุมขังที่พอซนาน (Poznan) และวรอซวาฟ (Wroclaw) ตามลำดับ แม้จะถูกจองจำ แต่ลักเซมบูร์กก็ยังไม่ยอมยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองเธอใช้นามแฝงว่า "จูนิอัส" (Junius) ที่นำชื่อมาจากลูซิอัส จูนิอัส บรูตัส (Lucius Junius Brutus) ผู้สถาปนาสาธารณรัฐโรมัน เขียนบทความและจุลสารการเมืองหลายเรื่องในคุกซึ่งถูกลักลอบนำมาพิมพ์เผยแพร่ จุลสารการเมืองเล่มสำคัญของเธอคือThe Crisis in the German Social Democracy ( ค.ศ. ๑๙๑๖) และ The Russian Revolution ( ค.ศ. ๑๙๑๗)
     ในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ กะลาสีเรือที่ฐานทัพเรือเมืองคีล (Kiel) ก่อการจลาจลคัดค้านคำสั่งให้ออกรบเพื่อโจมตีกองทัพเรืออังกฤษในทะเลเหนือมีการปะทะกันขึ้นระหว่างฝ่ายทหารเรือกับกะลาสีและขยายตัวนำไปสู่การเคลื่อนไหวปฏิวัติของกรรมกรและมวลชนในพื้นที่ใกล้ฐานทัพเรือและเมืองใกล้เคียง กรรมกรได้จัดตั้งเรเทอ (Räte) หรือสภาผู้แทนกรรมกรและทหารตามแบบอย่างสภาโซเวียต (Soviets) ของรัสเซียขึ้น ในเวลาอันสั้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าวก็ขยายตัวไปตามเมืองใหญ่และกลายเป็นการปฏิวัติที่เมืองมิวนิกและกรุงเบอร์ลินซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (November Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๘ การปฏิวัติที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าชายมักซีมีเลียนแห่งบาเดิน (Prince Maximilian of Baden) นายกรัฐมนตรีซึ่งถูกกดดันจากพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันและสภาผู้แทนทหารและกรรมกรต้องประกาศยุบคณะรัฐบาลและประกาศการสละราชบัลลังก์ของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ รวมทั้งให้นิรโทษกรรมแก่นักโทษการเมือง ลักเซมบูร์กจึงได้รับการปล่อยตัว ทันทีที่ ออกจากคุกเธอเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มกรรมกรและสนับสนุนคาร์ล ลีบเนชท์ให้เตรียมการก่อการปฏิวัติแบบการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗

ในรัสเซียโดยจะสถาปนาสาธารณรัฐโซเวียตเยอรมัน (German Soviet Republic) ขึ้นแต่ประสบความล้มเหลวเพราะฟิลิป ไชเดอมันน์ (Philip Scheidemann) ผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันซึ่งร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลชุดใหม่ได้รีบประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเยอรมันขึ้นเพื่อตัดหน้าฝ่ายปฏิวัติเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ก่อนที่เยอรมนีจะยอม ลงนามในสนธิสัญญาการสงบศึก (Armistice)* ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในอีก ๒ วันต่อมา
     การประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเยอรมันทำให้ลักเซมบูร์กและลีบเนชท์ต้องปรับยุทธวิธีการต่อสู้โดยรวมสันนิบาตสปาร์ตาคัสเข้ากับกลุ่มสังคมนิยมและจัดตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ในการประชุมใหญ่ครั้งแรกของพรรค ลีบเนชท์เสนอให้เตรียมการยึดอำนาจด้วยการลุกฮือติดอาวุธและผลักดันให้เรเทอเป็นรัฐบาลปฏิวัติแต่ลักเซมบูร์กคัดค้านด้วยเหตุผลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ยังมีกำลังไม่แข็งแกร่งพอ ทั้งกรรมกรจำนวนมากยังไม่ได้เป็นสมาชิก เธอเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์ลงสมัครในการเลือกตั้งทั่วไปที่รัฐบาลจะกำหนดขึ้น แต่สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเธอ ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ พรรคคอมมิวนิสต์เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผยและระหว่างวันที่ ๕-๖ มกราคมมีการเดินขบวนสำแดงกำลังในกรุงเบอร์ลินของกรรมกรหลาย หมื่นคน ในจำนวนนี้มีกรรมกรติดอาวุธรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก การเคลื่อนไหวครั้งนี้ซึ่งเรียกชื่อกันต่อมาว่า "สัปดาห์สปาร์ตาคัส" เปิดโอกาสให้รัฐบาลใช้กองทัพและกองกำลังอิสระ (Free Corps)* ซึ่งเป็นกองกำลังพลเมืองติดอาวุธเข้าปราบปรามและกวาดล้าง
     แม้ลักเซมบูร์กจะไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ แต่เมื่อเป็นนโยบายพรรคและมีมวลชนกรรมกรเข้าร่วมด้วย เธอก็เข้าร่วมสนับสนุนอย่างเต็มกำลังด้วยการเขียนใบปลิวและจุลสารทางการเมืองจำนวนมากและร่วมเคลื่อนไหวปลุกระดมไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อยจนกรรมกรเรียกเธอว่า "เรดโรซา" (Red Rosa) กองกำลังอิสระจึงระดมกำลังและร่วมกับกองทัพเข้าปราบปราม ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ มีการปะทะต่อสู้กันอย่างนองเลือด ผู้นำคนสำคัญของฝ่ายกบฏเกือบทั้งหมดถูกจับ ลักเซมบูร์กและลีบเนชท์หลบหนีได้แต่ก็ถูกตามล่าทุกตารางนิ้วของ กรุงเบอร์ลินจนถูกจับได้ในคืนวันที่ ๑๕ มกราคม และสภาผู้แทนกรรมกรถูกยุบ ลักเซมบูร์กถูกนำตัวไปไต่สวน ณ โรงแรมอัดลอน (Adlon) และถูกตัดสินโทษประหารโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ในคืนนั้นเธอถูกทารุณกรรมจนสลบและถูกลากตัวออกจากโรงแรมโดยสมาชิกกองกำลังอิสระโยนร่างเธอขึ้นรถที่จอดคอยอยู่เมื่อรถยนต์เคลื่อนที่ออกไปได้เล็กน้อยลักเซมบูร์กก็ถูกกระหน่ำยิงเสียชีวิตขณะอายุ ๔๘ ปี ร่างของเธอถูกมัดถ่วงด้วยก้อนหินโยนทิ้งลงคลองลันด์เวร์ (Landwehr) เพื่อปกปิดหลักฐานและชื่อเสียงเรียงนามของเธอ แต่อีก ๕ เดือนต่อมาก็มีผู้พบศพเธอและได้รับการชันสูตรว่าถูกยิงเสียชีวิต เลโอ โยกิชส์สหายคู่ชีวิตซึ่งพยายามตามสืบหาศพของลักเซมบูร์กจนพบได้นำกระดูกเธอมาบรรจุไว้ที่สุสานในกรุงเบอร์ลิน วิลเฮล์ม พีค (Wilhelm Pieck) สหายคอมมิวนิสต์ของลักเซมบูร์กและลีบเนชท์ซึ่งถูกจับกุมและได้รับการปล่อยตัวถูกตั้งข้อสงสัยในเวลาต่อมาว่าเป็นคนชี้เบาะแสให้ฝ่ายตำรวจรู้ที่ซ่อนตัวของลักเซมบูร์กและลีบเนชท์เพื่อแลกกับอิสรภาพ แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน พีคกลับมาทำงานให้องค์การพรรคและเมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๔๕)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist Workers’ Party-NSDAP; Nazi Party)* ก้าวสู่อำนาจทางการเมืองในเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๓๓ พีคหนีไปอยู่ที่สหภาพโซเวียต แต่ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เขาติดตามกองทัพแดง (Red Army)* กลับมากรุงเบอร์ลินและหลังสงครามสิ้นสุดลง เขาได้เป็นผู้นำคนแรกของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมนีตะวันออก
     ในการเปิดประชุมใหญ่ครั้งแรกขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือโคมินเทิร์น (Comintern)* ระหว่างวันที่ ๒-๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ ที่กรุงมอสโก เลนินประธานของที่ประชุมได้ขอให้ที่ประชุมยืนไว้อาลัยแก่โรชา ลักเซมบูร์ก และคาร์ล ลีบเนชท์ ซึ่งเขาสดุดีว่าเป็น "ประชาชนและผู้นำที่ดีที่สุดของชนชั้นกรรมาชีพ" และ "โรซา ลักเซมบูร์ก… ได้เคยเป็นและก็ยังคงเป็นพญาอินทรีของพวกเราอยู่" นอกจากนี้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (German Democratic Republic) หรือเยอรมนีตะวันออกได้นำภาพลักเซมบูร์กจัดทำเป็นรูปดวงตราไปรษณียากร (รัฐบาลเยอรมนีตะวันตกก็นำภาพเหมือนของลักเซมบูร์กมาทำเป็นรูปดวงตราไปรษณียากรใน ค.ศ. ๑๙๗๔ ด้วย ซึ่งก็มีทั้งผู้เห็นด้วยและต่อต้าน) และตั้งชื่อจัตุรัสใจกลางกรุงเบอร์ลินที่ใกล้สถานีรถไฟใต้ดินสาย ๒ (U2) ว่า จัตุรัสโรซา ลักเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg Platz) ทั้งสร้างโรงละครเพื่อมวลชน (Volksbühne - People’s Theatre) ขึ้นบริเวณจัตุรัสโรซาลักเซมบูร์ก หลังการรวมเยอรมนี เข้าเป็นประเทศเดียวกันใน ค.ศ. ๑๙๙๐ จัตุรัสใจกลางกรุงเบอร์ลินก็ยังคงใช้ชื่อเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง.



คำตั้ง
Luxemburg, Rosa
คำเทียบ
นางโรซา ลักเซมบูร์ก
คำสำคัญ
- พีค, วิลเฮล์ม
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- กองกำลังอิสระ
- กองทัพแดง
- โคมินเทิร์น
- เรเทอ
- มักซีมีเลียนแห่งบาเดิน, เจ้าชาย
- สนธิสัญญาการสงบศึก
- ไชเดอมันน์, ฟิลิป
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- วิลเลียมที่ ๒, ไกเซอร์
- ออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิ
- คีล, เมือง
- เมริง, ฟรันซ์
- การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน
- สงครามบอลข่าน
- เลวี, พอล
- ซามอชช์, เมือง
- พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน
- พรรคสังคมประชาธิปไตยโปแลนด์
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือพรรคเอสพีดี
- ลีบเนชท์, คาร์ล
- ลัทธิมากซ์
- ลักเซมบูร์ก, โรซา
- สันนิบาตสปาร์ตาคัส
- สภาไรค์ชตาก
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- เปลฮานอฟ, เกออร์กี
- คอลลอนไต, อะเล็กซานดรา
- โยกิชส์, เลโอ
- พรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งราชอาณาจักรโปแลนด์
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย
- ไลพ์ซิก, เมือง
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓, ซาร์
- วอร์ซอ, กรุง
- ลูนาชาร์สกี, อะนาโตลี วาซีเลียวิช
- อัคเซลรอด, ปาเวล
- ดเซียร์จินสกี, เฟลิกซ์ เอดมุนโดวิช
- ลัทธิแก้
- เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด
- แบร์นชไตน์, เอดูอาร์ด
- บาเบล, เอากุสท์
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒
- โชแรส, ชอง
- ลือเบค, กุสตาฟ
- ตรอตสกี, เลออน
- พรรคบอลเชวิค
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- เลนิน, วลาดีมีร์
- เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, กรุง
- ทุน
- เอแบร์ท, ฟรีดริช
- มากซ์, คาร์ล
- สาธารณรัฐไวมาร์
- เฮลซิงกิ, กรุง
- เซทกิน (เซทคิน), คลารา
- ซาราเยโว, กรุง
- เคาท์สกี, คาร์ล
- ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์, อาร์ชดุ๊ก
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- แถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1871-1919
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๑๔-๒๔๖๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf